แนวทางแก้ปัญหา ทำได้โดย
• วางแผนก่อสร้างอาคารที่ได้มาตรฐาน โปร่ง ระบายอากาศได้ดี มีการออกแบบกั้นบริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของสารระเหยแยกจากห้องทำงานของพนักงาน เช่น ห้องถ่ายเอกสาร ห้องปริ้นท์งาน ห้องเก็บผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และกำหนดเขตห้ามสูบบุหรี่
• ควรใช้วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี มีสารมลพิษและไอระเหยน้อยที่สุด เช่น ใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสมและมีสารป้องกันเชื้อรา ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้จริงหรือใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัย ที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จึงไม่ควรใช้พรมโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ควรจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี เช่น ติดตั้งช่องลม หรือพัดลมดูดอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกโดยเฉพาะบริเวณที่มีสารเคมีระเหยออกมาได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องถ่ายเอกสารหรือห้องที่มีปริ๊นเตอร์
• กรณีเป็นอาคารใหม่ ควรเว้นช่วงเวลาที่ให้สีและสารระเหยจากการตกแต่งอาคารระบายออกไปก่อนเข้าใช้อาคาร
• หมั่นทำความสะอาดห้องและเฟอร์นิเจอร์เพื่อลดปริมาณฝุ่นและเชื้อรา สำหรับผ้าม่านและพรมควรทำความสะอาดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
• ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือ เครื่องกรองอากาศ อาจต้องเป็นจำพวกผงถ่านซึ่งผ่านกรรมวิธีให้มีความสามารถในการดูดซับเรียกว่า “ถ่านกัมมันต์” (Activated Charcoal) และล้างแผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก 2 สัปดาห์
• ทำความสะอาดล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยทุก 6 เดือนต่อครั้ง
• เมื่อปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างให้มีอากาศจากภายนอกหมุนเวียนในอาคาร และควรให้มีแสงแดดส่องเข้ามาในห้องบ้าง เพื่อลดความชื้นและเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ไอออนลบและโอโซนตามธรรมชาติช่วยในการขจัดสารพิษในอาคารได้ด้วย
• ควรจัดห้องให้โล่งและมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด อย่าให้มีซอกมุมเก็บฝุ่น
• นำต้นไม้ในร่มมาปลูกและวางประดับไว้ตามจุดต่าง ๆ ในห้องหรือสำนักงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีแล้ว ยังช่วยฟอกอากาศและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะไม้ประดับบางชนิดมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษในอากาศได้ เช่น พลูด่าง เดหลี บอสตันเฟิร์น ลิ้นมังกร หมากเหลือง ว่านหางจระเข้ เสน่ห์จันทร์แดง สาวน้อยประแป้ง ออมเงินออมทอง โกสน และไอวี เป็นต้น
Leave a Reply